Policies & Plans

ประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง นโยบายความเท่าเทียมด้านการรับสมัครนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2566

                           เพื่อให้การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาและการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการภายใต้หลักความเสมอภาคทางการศึกษา โดยอยู่บนพื้นฐานของความถนัด ความสนใจ และความสามารถของแต่ละบุคคล ไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยหลักความเสมอภาคเป็นหลักที่กำหนดให้รัฐต้องปฏิบัติต่อประชาชนทุกคนโดยเท่าเทียม ยึดหลักประการสำคัญที่ว่าต้องปฏิบัติต่อบุคคลที่เหมือนกันในสาระสำคัญเดียวกัน และปฏิบัติต่อบุคคลที่แตกต่างกันในสาระสำคัญที่แตกต่างกันออกไป

                            แนวทางการรับบุคคลเข้าศึกษา

                           มหาวิทยาลัย เปิดรับบุคคลเข้าศึกษาต่อระดับอนุปริญญาตรี ระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา โดยดำเนินการภายใต้หลักการของความเป็นธรรม สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเสมอภาค ตามหลักธรรมาภิบาลการรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ตามแนวทางดังต่อไปนี้

                            1. แนวทางการรับบุคคลเข้าศึกษาระดับอนุปริญญาตรี

                           มหาวิทยาลัยจะรับนักศึกษาเข้าศึกษาในหลักสูตรตามเงื่อนไขและวิธีการที่ระบุไว้ในหลักสูตร หรือตามประกาศของส่วนงาน โดยความเห็นชอบของอธิการบดี โดยเป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยการศึกษาระดับอนุปริญญาตรีและปริญญาตรี โดยส่วนงานจะดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาโดยตรง ตามประกาศของส่วนงานโดยผ่านความเห็นชอบจากมหาวิทยาลัย

                            2. แนวทางการรับบุคคลเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี

                           มหาวิทยาลัยจะรับนักศึกษาเข้าศึกษาในหลักสูตรตามเงื่อนไขและวิธีการที่ระบุไว้ในหลักสูตร หรือตามประกาศของส่วนงาน โดยความเห็นชอบของอธิการบดี โดยเป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยการศึกษาระดับอนุปริญญาตรีและปริญญาตรี ซึ่งการรับนักศึกษาในระดับปริญญาตรี มี 2 ประเภท คือ

                           2.1 มหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินการคัดเลือกให้เข้าศึกษา ผ่านระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา

                           2.2 ส่วนงานดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาโดยตรง ตามประกาศของส่วนงาน โดยผ่านความเห็นชอบจากมหาวิทยาลัย

                            3. แนวทางการรับบุคคลเข้าศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา

                           มหาวิทยาลัยจะรับนักศึกษาเข้าศึกษาในหลักสูตรตามประกาศของบัณฑิตวิทยาลัย ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

                           3.1 กรณีทั่วไป โดยการทดสอบข้อเขียนและ/หรือสัมภาษณ์ หรือวิธีการอื่นใดตามที่บัณฑิตวิทยาลัยและประธานหลักสูตรกำหนดและประกาศให้ทราบ

                           3.2 กรณีพิเศษ โดยการคัดเลือกให้เข้าศึกษาเป็นกรณีพิเศษตามที่ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย

                           3.3 กรณีนักศึกษาสมทบ ให้เป็นไปตามประกาศของบัณฑิตวิทยาลัย

                            การจัดการศึกษา

                           มหาวิทยาลัย มีการจัดการศึกษาระบบทวิภาค ระบบไตรภาค และระบบอื่น โดยมีรายละเอียดตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยการศึกษาระดับอนุปริญญาและปริญญาตรี และข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา

                            นโยบายคุ้มครองการเลือกปฏิบัติ

                           การเลือกปฏิบัติ (discrimination) สะท้อนถึงความหมายหลายนัยในหลายบริบทซึ่งในกรอบของกฎหมายสิทธิมนุษยชนมีปัจจัยสำคัญในการพิจารณา ประกอบด้วย เหตุแห่งการเลือกปฏิบัติ และมติของการเลือกปฏิบัติ โดยการเลือกปฏิบัติอาจเกิดขึ้นในหลากหลายกรณีที่แตกต่างกัน เช่น การเลือกปฏิบัติจากผู้บังคับบัญชาต่อผู้ใต้บังคับบัญชาในมหาวิทยาลัย การเลือกปฏิบัติระหว่างเพื่อนร่วมงานในมหาวิทยาลัย การเลือกปฏิบัติของอาจารย์มหาวิทยาลัยต่อนักศึกษา และการเลือกปฏิบัติของนักศึกษารุ่นพี่ที่มีอายุมากกว่าหรือศึกษาในชั้นปีที่สูงกว่าต่อรุ่นน้องที่มีอายุน้อยกว่าหรือศึกษาในชั้นปีที่ต่ำกว่า เป็นต้น มหาวิทยาลัยจึงกำหนดนโยบายคุ้มครองการเลือกปฏิบัติภายใต้นโยบายความเท่าเทียมด้านการรับสมัครนักศึกษาไว้ดังนี้

                           1. มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาระดับสูงที่นอกจากจะมีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะด้านการให้การศึกษาแก่นักศึกษาระดับต่าง ๆ ซึ่งจะกลายมาเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคตแล้ว มหาวิทยาลัยสามารถกำหนดแนวทางในการจัดระเบียบให้ผู้คนที่มาจากหลากหลายความเป็นมาและผู้คนที่มี ความแตกต่างกันสามารถอยู่รวมกันได้อย่างปกติสุข โดยการจัดระเบียบบนพื้นฐานแห่งการเปิดโอกาสให้บุคคลทุกคนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมจากการทำงาน การเข้ารับบริการทางการศึกษา และการอยู่ร่วมสังคมมหาวิทยาลัย

                           2. มหาวิทยาลัยดำเนินการจัดการความหลากหลายและความเท่าเทียมรูปแบบต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยซึ่งไม่เพียงแต่ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างบุคลากรประเภทต่าง ๆ หรือระหว่างนักศึกษาด้วยกันเท่านั้น หากแต่ยังส่งเสริมกิจกรรมหรือกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการมหาวิทยาลัยอีกด้วย เช่น การจัดการความหลากหลายและความเท่าเทียมในมหาวิทยาลัยซึ่งทำให้สามารถทราบทิศทางในการจัดการการศึกษาในหลักสูตรนานาชาติหรือทิศทางในการรับนักศึกษานานาชาติเพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ที่ไม่เพียงแต่จะต้องคำนึงถึงการรองรับบริการด้านการศึกษาต่อนักศึกษานานาชาติเท่านั้น หากแต่จะต้องคำนึงถึงความหลากหลายของนักศึกษาอาเซียนจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ที่จะก้าวเข้ามาสู่รั้วมหาวิทยาลัยรวมถึงความเท่าเทียมทางเพศด้วย เป็นต้น

                           3. มหาวิทยาลัยมีความมุ่งมั่นในการรับนักศึกษาและตระหนักถึงหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่สามารถค้นหาและทราบถึงแนวทางความถนัดของตนเองโดยปราศจากอคติและทัศนคติที่ไม่ดี รวมถึงยอมรับในเสรีภาพและชื่นชมความเป็นเอกลักษณ์และความคิดสร้างสรรค์ของผู้อื่น โดยมหาวิทยาลัยจะสร้างสภาพแวดล้อมการศึกษาที่เหมาะสมและอยู่ภายใต้การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจะทำให้ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เกิดความไว้วางใจ รู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งและมีเป้าหมายร่วมกัน ส่งผลให้มหาวิทยาลัยเติบโตต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                           4. มหาวิทยาลัยส่งเสริมธรรมาภิบาลในสถาบันการศึกษาโดยการสื่อสารให้ผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษามหาวิทยาลัย รวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการดำเนินกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ได้ทราบทิศทางในการส่งเสริมความเท่าเทียมและทิศทางในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยในอนาคต

                           5. มหาวิทยาลัยจะสร้างสังคมมหาวิทยาลัยให้มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงาน การเรียน และการใช้บริการต่าง ๆ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ เพื่อเป็นการพัฒนากลไกที่ส่งเสริมความเท่าเทียมภายในมหาวิทยาลัย




Download Full Version