Policies & Plans

ประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง นโยบายส่งเสริมอาหารจากแหล่งผลิตที่ยั่งยืน มีคุณค่าทางโภชนาการและถูกสุขลักษณะตามสุขาภิบาลอาหาร พ.ศ. 2566

                           มหาวิทยาลัยมหิดลมีนโยบายขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Mahidol University Sustainability Action) ตาม 17 เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGS) จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริโภคอาหารที่สะอาด ปลอดภัยไม่มีสารเคมีอันตรายตกค้างซึ่งอาหารถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และเพื่อเป็นการสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Ensure sustainable consumption and production patterns) โดยมีรายละเอียดกำหนดไว้ดังนี้

                           1. ส่งเสริมให้มีการใช้วัตถุดิบประกอบอาหารที่มีคุณภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการจากแหล่งผลิตที่ปลอดภัยจากสารปนเปื้อน และมีการตรวจสอบคุณภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

                                 1.1 เนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์มาจากฟาร์มหรือแหล่งผลิตที่ปลอดภัยจากสารปนเปื้อนและสารเคมีอันตราย ถูกสุขลักษณะ และได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย

                                 1.2 สัตว์น้ำและอาหารทะเลมาจากแหล่งผลิตและการทำประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีกระบวนการทำประมงอย่างยั่งยืน หรือจากการทำประมงพื้นบ้านของชุมชน

                                 1.3 ผัก ผลไม้ หรือพืชสำหรับการประกอบอาหารมาจากแหล่งผลิตที่ปลอดภัยจากสารปนเปื้อนและสารเคมีอันตราย เป็นผลผลิตตามฤดูกาล และมาจากเกษตรกรในท้องถิ่น

                           2.ส่งเสริมให้มีระบบการจัดซื้อจัดจ้างวัตถุดิบอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ พร้อมทั้งคัดเลือกผู้ประกอบการที่คำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคและการเลือกใช้วัตถุดิบจากแหล่งอาหารยั่งยืน

                           3.ส่งเสริมให้มีมาตรการควบคุมการผลิตการให้บริการที่ได้มาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร

                                 3.1 ผู้ประกอบการร้านค้าภายในศูนย์อาหารของมหาวิทยาลัย ปฏิบัติตามขั้นตอนและหลักสุขาภิบาลอาหาร โดยมหาวิทยาลัยส่งเสริมความรู้และทักษะด้านการสุขาภิบาลตามกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 แก่ผู้ประกอบการเพื่อให้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยต่อผู้บริโภค

                                 3.2 มหาวิทยาลัยดำเนินการตรวจประเมินสถานประกอบการและผู้ประกอบการภายในศูนย์อาหารตามหลักสุขาภิบาล โดยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานสาธารณสุขอำเภอ

                                 3.3 มหาวิทยาลัยควบคุมการบริหารจัดการตั้งแต่การคัดแยกเศษอาหาร การทำความสะอาดภาชนะด้วยระบบที่มีมาตรฐานสากล และการควบคุมสัตว์รบกวนภายในพื้นที่ศูนย์อาหาร

                           4. ส่งเสริมให้ร้านค้ามีเมนูอาหารเพื่อสุขภาพตามหลักโภชนาการ เพื่อสุขภาพที่ยั่งยืนของผู้บริโภคให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน เช่น เมนูไขมันต่ำ เมนูอาหารมังสวิรัติ เมนูโซเดียมต่ำ เมนูลดหวาน เมนูอาหารที่มาจากพืช (Plant based)

                           5. สนับสนุนให้มีการควบคุมราคาให้เหมาะกับปริมาณและคุณภาพอาหาร และเน้นการใช้วัตถุดิบตามฤดูการจากเกษตรกรในท้องถิ่น

                           6. สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายความร่วมมีอระหว่างมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการร้านค้า และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับเกษตรชุมชน เกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัย เป็นต้น

                           7. ส่งเสริมให้มีระบบข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์อาหารเพื่อสุขภาพและปลอดภัยการรณรงค์การคัดแยกขยะเศษอาหาร พร้อมทั้งการรับประทานอาหารให้หมดจาน แก่นักศึกษา บุคลากร และบุคคลทั่วไปที่เข้ามาใช้บริการ

Download Full Version