Policies & Plans

มาตรการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2563
                        มหาวิทยาลัยมหิดลมีนโยบายส่งเสริมการเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco-University) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development และเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาคมมหิดลเกิดจิตสำนึกและมีส่วนร่วมลดการใช้น้ำประปา และจัดการน้ำเสียอย่างมีมาตรฐาน ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหามลภาวะทางน้ำ และเพื่อให้สอดคล้องตามมาตรการที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ในเรื่องของการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด สำหรับควบคุมการระบายน้ำทิ้ง การปล่อยทิ้งอากาศเสีย การปล่อยทิ้งของเสีย หรือมลพิษอื่นใดจากแหล่งกำเนิดออกสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ได้มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม
                    

มหาวิทยาลัยจึงควบคุมมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งจากอาคารของส่วนงานภายในมหาวิทยาลัย ดังนี้

  • ความเป็นกรดและด่าง (pH) ต้องมีค่าระหว่าง 5-9
  • บีโอดี (BOD) ต้องมีค่าไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อลิตร
  • สารแขวนลอย (Suspended Solid) ต้องมีค่าไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อลิตร
  • ซัลไฟด์ (Sulfide) ต้องมีค่าไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อลิตร
  • สารที่ละลายได้ทั้งหมด (Total Dissolved Solids) ต้องมีค่าเพิ่มขึ้นจากปริมาณสารละลายในน้ำใช้ตามปกติไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อลิตร
  • ตะกอนหนัก (Settleable Solids) ต้องมีค่าไม่เกิน 0.5 มิลลิลิตรต่อลิตร
  • น้ำมันและไขมัน (Fat Oil and Grease) ต้องมีค่าไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อลิตร
  • ทีเคเอ็น (TKN) ต้องมีค่าไม่เกิน 35 มิลลิกรัมต่อลิตร

มหาวิทยาลัยกำหนดให้ส่วนงานมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำเสีย ตามแนวทางดังนี้

  • วิเคราะห์คุณภาพน้ำระบบบำบัดน้ำเสียก่อนและหลังการบำบัดให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งจากอาคารของส่วนงานข้างต้น และส่งรายงานผลวิเคราะห์คุณภาพน้ำที่กองกายภาพและสิ่งแวดล้อมทุกเดือน
  • ลดหรือหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช เพื่อไม่ให้สารเคมีไหลลงสู่คูคลองภายในมหาวิทยาลัย
  • รณรงค์ให้มีการนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • ห้ามหน่วยงานปล่อยน้ำเสียออกสู่แหล่งน้ำผิวดินภายในมหาวิทยาลัย หากมีการปล่อยน้ำเสีย มหาวิทยาลัยมหิดลจะดำเนินการเก็บค่าบำบัดน้ำเสียตามอัตราค่าบริการและปรับผู้ปล่อยมลพิษทางน้ำ

มหาวิทยาลัยกำหนดให้ส่วนงานมีมาตรการส่งเสริมการลดใช้น้ำประปา ตามแนวทางดังนี้

  • กำหนดเป้าหมายการประหยัดน้ำประปาในแต่ละปี โดยสื่อสารให้บุคลากร และนักศึกษาทุกคนเข้าใจและปฏิบัติได้อย่างถูกวิธี
  • รณรงค์และส่งเสริมให้นักศึกษาและบุคลากร ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ
  • กำหนดให้ทุกหน่วยงานเลือกใช้อุปกรณ์ที่ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูง รวมถึงจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่เน้นการประหยัดน้ำ หรือสินค้าที่มีนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์น้ำ
  • ตรวจสอบท่อน้ำเป็นประจำ เมื่อเห็นน้ำรั่วซึม ท่อแตกรั่ว ควรซ่อมทันทีไม่ปล่อยทิ้งไว้
  • กำหนดมาตรการใช้น้ำตามความจำเป็นเพื่อเตรียมการรับมือในภาวะวิกฤติและภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
Download Full Version